สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี

ประวัติองค์กร

ประวัติองค์กร 

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 84 (8) ประกอบมาตรา 303 (1) ได้บัญญัติให้รัฐจัดทำกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการยกร่างกฎหมาย ว่าด้วยสภาเกษตรกร โดยมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการกองนิติการ (ขณะนั้น) เป็นกรรมการ และเลขานุการ เพื่อ ดำเนินการ ศึกษา และยกร่างกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกร คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิต และการตลาดเพื่อให้ผลิตผลทางการเกษตร ได้รับผลตอบแทนสูงสุด และมีสภาสำหรับเกษตรกร ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสริมสร้างสมานฉันท์ ของเกษตรกรทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกร มีความเข็มแข็ง และมีการรวมตัวกัน อย่างเป็นเอกภาพ โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถจัดทำแผนแม่บท เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา กำหนดนโยบาย ให้สอดคล้องกับความต้องการ และสภาพปัญหาอันแท้จริง รวมทั้งให้เกษตรกรได้รับ การพัฒนา ส่งเสริมให้ได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรรมด้านต่างๆในการนี้ ได้มีการนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกไปรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ แต่ละภาค รวม 4 ภาค แล้วนำข้อมูลที่ได้ จากการรับฟังความคิดเห็น มาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้เสนอไปยัง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการ ตามกระบวนการตรากฎหมาย

 

ความเป็นมาของพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553

 

ช่วงยกร่าง พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (8) “กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต การแปรรูปและการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกร เพื่อวางแผนเกษตรกรรม และรักษาผลประโยชน์ร่วมของเกษตรกร” รัฐบาลโดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาเห็นว่า การที่จะทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง ต้องสนับสนุนและให้สิทธิแก่เกษตรกร เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง จึงได้แต่งตั้ง นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานยกร่าง พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติประธานคณะทำงานได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรครอบคลุม ทั้ง 4 ภูมิภาค นับว่าเป็นการยกร่างกฎหมายฉบับแรกที่ผ่านการมีส่วนร่วมของเกษตรกรอย่างกว้างขวาง

ช่วงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ

หลังจากคณะทำงานยกร่าง พระราชบัญญัติเสร็จสิ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดย นายสมัครสุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ นายสมชาย วงสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบให้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะทำงาน ดำเนินการให้มีการเปิดเวที สร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ทั้ง 4 ภาค ครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อนำความเห็นมาปรับปรุงร่างให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เป็นพระราชบัญญัติฉบับที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมกันปรับปรุงแก้ไข ร่วมกันผลักดันมากที่สุดฉบับหนึ่งจนเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ช่วงผลักดันพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติสู่การพิจารณาของรัฐสภา

เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองอีกครั้งเมื่อ นายสมชาย วงสวัสดิ์ ได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฉบับดังกล่าวถือเป็นร่างของรัฐบาล เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ขณะเดียวกันก็มีร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติของพรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอเข้ารัฐสภาด้วยเช่นกัน ในระหว่างนี้ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนเกษตรกร และผู้นำองค์กรเกษตรกรหลายคนหวั่นเกรงว่าจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเหมือนทุกครั้งที่มีการนำเสนอพระราชบัญญัติสภาเกษตรกร ในที่สุดความหวังของเกษตรกรที่ที่รอคอยและร่วมกันผลักดันมากกว่า 30 ปี ก็เป็นจริงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาให้ไว้ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553